ตั้งแต่ 3 กุมภาพันธ์ 2541
ตรวจสอบแทรคไปรษณีย์ไทย
domain register Admin Only
ทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ตรวจสอบไอพี(IP check for locate)
เตือนชาวอีสานใช้ "เกลือดิน" ทำปลาร้า สสจ.อุบลราชธานีชี้ไม่ปลอดภัย หลังวิจัยพบปนเปื้อนทั้งสารหนู ตะกั่ว ปรอท เสี่ยงมะเร็ง กระทบระบบประสาท ทางเดินอาหาร และระบอื่นๆของร่างกายเพียบ สั่งห้ามบริโภคแล้ว เร่งหาแนวทางใช้ประโยชน์แบบอื่น ระบุเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้องการอนุรักษ์ไว้ ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต ภญ.กาญจนา มหาพล เภสัชกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุบลราชธานี นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง "สถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักในเกลือที่ผลิตจากดินจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2554-2555" ภายในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2556 ว่า คนอีสานมีการผลิตเกลือจากดิน เรียกว่า "เกลือดิน" ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเกลือดินที่ผลิตใน อ.เขื่องใน อ.เหล่าเสือโก้ก อ.ตระการพืชผล และอำเภอเมือง จำนวน 20 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาโลหะหนัก 5 ชนิด คือ สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และทองแดง ที่บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย) จำกัด สาขาขอนแก่น พบว่า ปนเปื้อนสารหนู 14 ตัวอย่าง คิดเป็น 70% ตะกั่ว 12 ตัวอย่างคิดเป็น 60% ปรอท 2 ตัวอย่างคิดเป็น 10% ทองแดง 9 ตัวอย่างคิดเป็น 45% แต่ไม่พบการปนเปื้อนแคดเมียม ภญ.กาญจนากล่าวอีกว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่ผ่านเกณฑ์โลหะหนักทั้ง 5 รายการ โดยบางตัวอย่างไม่ผ่าน 3 รายการ บางตัวอย่างไม่ผ่าน 2 รายการ ทั้งนี้ การพิจารณาผลการตรวจหาโลหะหนัก 5 รายการ ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนและมาตรฐานอุตสสาหกรรม (มอก.เกลือบริโภค) โดยเลือกค่าต่ำสุดเป็นเกณฑ์ คือ สารหนู ใช้เกณฑ์ มอก. 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(mg/kg) ตะกั่วใช้เกณฑ์ สธ.1.00 mg/kg ปรอท เกณฑ์ สธ. 0.02 mg/kg แคดเมียม เกณฑ์ มอก.0.50 mg/kg และทองแดง เกณฑ์ มอก. 2.00 mg/kg "สำหรับการสำรวจสภาพแวดล้อมพื้นที่ทำเกลือดินบ่อเบ็น จากการร่วมมือกับสำนักงานที่ดิน เขตที่ 4 พบว่า น้ำไม่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แต่พบว่าดินมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่าดินมีการปนเปื้อนจากที่ไหน แต่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบ่อเบ็น มีแหล่งรับซื้อของเก่า" ภญ.กาญจนากล่าว ภญ.กาญจนากล่าวด้วยว่า อันตรายของโลหะหนัก หากเป็นสารหนูจะเป็นสารก่อมะเร็ง ตะกั่วมีพิษต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบโลหิต ระบบไตและทางเดินปัสสาวะ ส่วนปรอทมีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เสียการควบคุมเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูดและยังทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น ส่วนแคดเมียมมีพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ไต กระดูกผิดรูป ขณะที่ทองแดงมีพิษต่อตับ ร่างกายสั่นเทาตลอดเวลา ภญ.กาญจนากล่าวต่อไปว่า คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจเกลือดินในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสานอีก 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และชัยภูมิ จำนวน 22 ตัวอย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนเช่นกัน ได้แก่ สารหนู 19 ตัวอย่าง คิดเป็น 86.4% ตะกั่ว 17 ตัวอย่างคิดเป็น 77.3% ปรอท 4 ตัวอย่างคิดเป็น 18.2% สังกะสี 1 ตัวอย่างคิดเป็น 4.5% แต่ไม่พบการปนเปื้อนแคดเมียมและทองแดง ส่วนอะลูมิเนียมไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน ล่าสุด สสจ.ได้ออกคำแนะนำไม่ให้ประชาชนบริโภคเกลือดินแล้ว เพราะมีความไม่ปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดหาแนวทางในการส่งเสริมให้นำเกลือดินไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ เนื่องจากการผลิตเกลือจากดินเป็นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีคุณค่า เช่น ทำปลาร้า ส้มผัก ปลาแห้ง บางพื้นที่ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน อย่างแหล่งผลิตเกลือดินที่บ่อเบ็นนาเกลือ อ.เขื่อง จ.อุบลราชธานี มูลค่ารวม 1-2 ล้านบาทไม่แพ้การทำนาข้าว