คติ และคติภพ คืออะไรและต่างกันอย่างไร
ข้อความบางตอนจาก..
มหาสีหนาทสูตร
[๑๗๐] ดูก่อนสารีบุตร คติ ๕ ประการเหล่านี้แล ๕ ประการเป็นไฉน
คือนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ เทวดา. ดูก่อนสารีบุตร เรา
ย่อมรู้ชัดซึ่งนรก ทางยังสัตว์ให้ถึงนรก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงนรก
อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึง
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย. ดูก่อนสารีบุตร
เราย่อมรู้ชัดซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน ทางยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน ปฏิปทาอัน
จะยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่
ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉาน เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.
ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเปรตวิสัย ทางไปสู่เปรตวิสัย และปฏิปทาอัน
จะยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตาย
เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย. ดูก่อน
สารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเหล่ามนุษย์ ทางอันยังสัตว์ให้ถึงมนุษยโลก และปฏิ-
ปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้า
แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมอุบัติในหมู่มนุษย์ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้น
ด้วย. ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเทวดาทั้งหลาย ทางอันยังสัตว์ให้ถึง
เทวโลก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมรู้ชัดซึ่ง
ประการนั้นด้วย. ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งพระนิพพาน ทางอันยัง
สัตว์ให้ถึงพระนิพพาน และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน อนึ่ง สัตว์
ผู้ปฏิบัติประการใด ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ
มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย......
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เมื่อได้ยินคำใดก็ควรที่จะได้เข้าใจความหมายของคำ
ที่กล่าวถึงด้วย คือ คำว่า คติ กับ (คติ)ภพ
คติ หมายถึง ที่ไป, ที่ ๆ จะไป ซึ่งก็มีทั้งที่ไปดี (สุคติ) กับ ที่ไปที่ไม่ดี (ทุคติ)
ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ไม่พ้นไปจากคติ ๕ คือ นรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรต-
วิสัย(เกิดเป็นเปรต) มนุษย์ เทวดา(เทวดาในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงผู้ที่เกิด
ในรูปพรหมและอรูปพรหมด้วย)
ส่วนคำว่า ภพ หมายถึงสถานที่เกิดของหมู่สัตว์ มี ๓๑ ภพภูมิ หรือหมายถึง
ความบังเกิดขึ้นเป็นบุคคลต่าง ๆ และ ในบางแห่งเช่น ภพ ในปฏิจจสมุปบาท ภพมี
๒ ความหมายคือ กรรมภพ หมายถึง เจตนาเจตสิก(อกุศลเจตนา โลกียกุศลเจตนา)
และอุปปัตติภพ หมายถึง ผลของเจตนา(โลกียวิบาก เจตสิกที่ประกอบ และกัมม-
ชรูป) ด้วย
ดังนั้น ที่กล่าวถึง คติภพ นั้นน่าจะหมายถึง ภพที่กำลังเป็นอยู่ และภพที่จะไปเกิด
ต่อไป ในชาิิติต่อไป ซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะเป็นภพภุมิใด ถ้าเกิดในสุคติภูมิ
ก็เป็น สุคติภพ ถ้าเกิดในอบายภูมิหรือทุคติภูมิ ก็เป็นทุคติภพ
ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ เมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีทุกข์ประการ
ต่าง ๆ มากมาย, สำคัญอยู่ที่ปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง การได้เกิดมาเป็นมนุษย์
เป็นเรื่องที่ยากมาก (ซึ่งมนุษย์ก็เป็นหนึ่งในสุคติภูมิ เป็นผลของกุศลกรรม) เมื่อได้
เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็ยังแตกต่างกันตามการสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ผู้ที่มี
โอกาสได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ปัญญา
เจริญขึ้นนั้น มีน้อยมาก การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มี
จริงบ่อย ๆ เนือง ๆ สะสมความเข้าใจที่ถูกต้องไปตามลำดับ ย่อมเป็นชีวิตที่คุ้มค่า
คุ้มค่าแล้วกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้ฟังพระธรรมซึ่งหาฟังได้ยากเป็นอย่างยิ่ง
แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ยังจะต้องฟัง ต้องศึกษาต่อไป อบรมเจริญปัญญาต่อไป ซึ่งการ
อบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับ
ขั้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ ไม่มีการเกิดอีกเลย ได้ในที่สุด แต่ถ้าไม่ได้
ฟังพระธรรมเลย ไม่มีปัญญาเลย แล้วจะพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะได้อย่างไร
ขอบคุณ http://www.dhammahome.com