แฉรายชื่อ ผัก-ผลไม้อันตราย เสนอมาตรการขั้นเด็ดขาด!
"ผักที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด คือผักผลไม้ที่ได้รับ "ตรารับรองมาตรฐาน Q" โดยภาพรวมของผัก Q 87.5% พบการตกค้างของสารเคมี และมีที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน MRLs (ปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้) มากถึง 62.5%
ส่วนผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก ตกเกณฑ์รองลงมาอยู่ที่ 53.3% และแหล่งจำหน่ายที่ตกมาตรฐาน MRLs น้อยที่สุดคือตลาด อยู่ที่ 40.0%
เมื่อจำแนกตามชนิดผักผลไม้ พบว่าชนิดผลผลิตที่มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินค่า MRLs มากที่สุด คือ "ส้มสายน้ำผึ้ง" ตกเกณฑ์ 100% รองลงมา ได้แก่ ฝรั่ง 69.2%, แอปเปิล 58.3%, คะน้า 53.8%, กะเพรา สตรอเบอรีและส้มจีนชนิดละ 50%, ถั่วฝักยาว 42.9% ผักชี 36.4%, แตงโม 15.4% และพริกแดง 8.3%"
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลจากการสุ่มตรวจที่ทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้แถลงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักผลไม้เอาไว้ โดยการสุ่มตรวจเช่นนี้ มีมาตั้งแต่ปี 2555 และล่าสุด ปีนี้มีการสุ่มตรวจเพื่อเฝ้าระวังกันถึง 2 รอบจึงทำให้ผลออกมาอย่างที่เห็น
การเฝ้าระวังในรอบแรกเป็นการสุ่มตรวจผักผลไม้ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 จากแหล่งซื้อ 2 แหล่งหลัก คือ 1.ห้างค้าปลีก (บิ๊กซี, เทสโก้โลตัส, ท็อปส์ และโฮมเฟรชมาร์ท) โดยแบ่งสำรวจเป็นประเภท "ผักทั่วไป" และ "ผักที่ได้รับรองมาตรฐาน Q" และ 2.ตลาด โดยแบ่งเป็นตลาดสด (ตลาดห้วยขวาง) และตลาดค้าส่ง (ตลาดสี่มุมเมือง) รวมทั้งเพิ่ม ตลาดศรีเมืองทอง ในจังหวัดขอนแก่นเพื่อเป็นการขยายงานเฝ้าระวังไปยังภูมิภาคด้วย
นอกจากนี้ ได้มีการสุ่มตรวจรอบสองที่จังหวัดเชียงใหม่ ยโสธร และสงขลา สำหรับชนิดผักและผลไม้ที่สุ่มตรวจ ได้แก่ คะน้า, ถั่วฝักยาว, พริก, ผักชี, กะเพรา, ส้ม, สตรอเบอรี, แอปเปิล, ฝรั่ง และแตงโม นำตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรอง "ISO 17025" เพื่อวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะ
ผลปรากฎว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบตกค้างในผักผลไม้ทุกชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสและไซเปอร์เมทริน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในไทยแพนแบนลิสต์ทั้ง 2 ชนิด รวมทั้งคาร์เบนดาซิมที่สุ่มตรวจเฉพาะในผลไม้ (ส้ม, แอปเปิ้ล และสตรอเบอร์รี่) ก็พบการตกค้างในผลไม้ทั้ง 3 ชนิด ในปริมาณที่สูงกว่าค่า MRLs หลายเท่าตัว ซึ่ง "คาร์เบนดาซิม" เป็นสารเคมีกำจัดโรคพืชที่ไม่สามารถตรวจได้จากการสุ่มตรวจโดยทั่วไป ทำให้ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐเองก็อาจไม่ได้เฝ้าระวังสถานการณ์การตกค้างของสารชนิดนี้เท่าที่ควร ที่น่ากังวลมากคือสารชนิดนี้เป็นชนิดดูดซึม จึงตกค้างเข้าไปในเนื้อเยื่อของผักผลไม้และไม่สามารถขจัดออกด้วยการล้างได้
ด้วยรายละเอียดในเชิงลึกเกี่ยวกับอันตรายทางอาหารการกินครั้งนี้ จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง และนี่คือข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน)
1.ให้ "สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)" ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ยกเครื่อง "เครื่องหมาย Q" ขจัดความสับสนต่างๆ ใน Q ที่แตกต่างกัน และควบคุมมาตรฐานของผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
2.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจัดการปัญหา ณ ต้นทาง โดยการยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาร์โบฟูรานและเมโธมิล และให้กรมวิชาการเกษตรควบคุมการนำเข้าและการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรงและดูดซึมอย่างเข้มงวด โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรและเพิ่มกลไกการตรวจสอบหลังการขึ้นทะเบียน (Tracking System)
3.ให้ "สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)", "สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)", กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับภาคเอกชน และประชาสังคมเร่งรัดการพัฒนาระบบเตือนภัยความปลอดภัยด้านอาหาร (Rapid Alert System for Food) ภายในปี พ.ศ.2558