ผมไปตรวจสุขภาพประจำปี เมื่อมาอ่านรายงานผลการตรวจแล้วต้องตกใจ เมื่อพบว่า Cholesterol เกินค่ามาตรฐาน แต่ก็พอรับได้
เพราะเกินไม่มากเกินแค่ 58 เอง แต่เจ้า triglyceride นี่สิเกินมา 121 เลย และมันมีอันตรายด้วย เมื่อปีที่แล้ว ผมไปตรวจที่เดียวกัน
ก้ไม่เห็นจะเกิน มันเป็นเพราะเหตุใด มาดูข้อมูลและวิเคราะห์สาเหตุ ครับ
ตรวจเมื่อ 7 ตุลาคม 2559 ที่ติ๊กสีแดงคือมีปัญหา H=สูงกว่ามาตรฐาน L=ต่ำกว่ามาตรฐาน
3 มีนาคม 2558 ค่า triglyceride 168 ไม่เกินมาตรฐาน ค่ามาตรฐานคือ <200 แต่ปี 2559 ค่า 321 เกินมาตรฐาน 121 เลย ครับ
(เคยเจอคนที่สูงเป็น800-1000 แบบนี้อันตรายมาก)
รู้จักไตรกลีเซอไรด์

ไตรกลีเซอไรด์ คืออนุภาคไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นในตับ มีขนาดเบาบางและเล็กมาก จึงไม่น่าแปลกที่ใครบางคนบอกว่า
อยู่เฉยๆ ร่างกายก็ผลิตไตรกลีเซอไรด์ แต่ไขมันชนิดนี้ยังเพิ่มพูนในร่างกายของเราได้จากอาหารที่เรากินเข้าไปด้วย
อาหารประเภทไขมันโดยส่วนใหญ่จะมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช ไขมันสัตว์ หรือไขมันที่ซ่อนอยู่ในเนื้อ นม หรืออาหารอื่นๆ
ที่เรานึกไม่ถึงว่าจะมีไขมันซ่อนอยู่ด้วย เมื่อเรากินอาหารประเภทนี้เข้าไป ร่างกายจะดูดซึมแล้วก็ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ผ่านเลือด
ส่งไปยังเซลล์ต่างๆ ที่ต้องการพลังงาน ไตรกลีเซอไรด์ที่มากเกินไปจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน (body fat) แล้วพอกพูน
ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจนร่างกายอ้วนขึ้น
โดยปกติร่างกายขจัดไตรกลีเซอไรด์ออกจากเลือดได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่สองสามชั่วโมงหลังจากการกินอาหาร ไขมันไตรกลีเซอไรด์
ส่วนใหญ่ก็ถูกขจัดออกจากเลือดเข้าสู่เซลล์ได้แล้ว คนทั่วไปจึงมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดไม่สูง คือประมาณ
50-150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ถ้าตรวจเลือดหลังอดอาหารมาแล้ว 8-12 ชั่วโมง พบว่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัม
ต่อเดซิลิตรขึ้นไป แสดงว่าร่างกายมีปัญหาในการขจัดไตรกลีเซอไรด์
ไตรกลีเซอไรด์กับสุขภาพ

การสะสมของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดที่มากผิดปกติ จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์
เช่นเดียวกับการมีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ทั้งนี้เพราะไตรกลีเซอไรด์ปริมาณสูงทำให้เลือดข้นเหนียวขึ้น เกิดการจับตัวกันเป็นลิ่ม
และอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจและสมอง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าคนที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง
เป็นเวลานานจะทำให้ระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลที่ดีในเลือดลดต่ำลงด้วย ดังนั้นไตรกลีเซอไรด์
ในเลือดที่สูงร่วมกับเอชดีแอลต่ำ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงมากๆ อาจจะทำให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบได้ ในผู้หญิงระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงทำให้มี
ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้นด้วย เพราะไตรกลีเซอไรด์ที่สูงจะไปกระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ไหลเวียนอยู่สูงขึ้นด้วย
ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเป็นมะเร็งเต้านม
ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้อย่างไร
ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงผิดปกติเกิดจากการกินอาหารไม่ถูกสัดส่วน ได้รับพลังงานหรือแคลอรีมากเกินไป กินอาหารที่มีไขมันหรือ
ขนมหวานในปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสร้างไตรกลีเซอไรด์แล้วขับเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ก็จะไปกระตุ้นตับให้ผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้นเช่นกัน และยังทำให้การเคลื่อนย้ายไขมันออกจากเลือดได้ช้ากว่าปกติด้วย
ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ยังพบได้บ่อยในคนอ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอ้วนแบบพุงกะทิคนที่เป็นโรคไต โรคเบาหวานชนิดที่สอง
หรือชนิดไม่พึ่งอินซูลิน คนที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยและคนที่เป็นโรคตับ
ทั้งนี้เพราะกลไกการย่อยสลายไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเปลี่ยนแปลงไป
บางคนที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงที่เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เช่น ร่างกายขาดเอนไซม์ที่ย่อยไตรกลีเซอไรด์
จึงขจัดไตรกลีเซอไรด์ได้ช้าผิดปกติ คนกลุ่มนี้มักมีค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากอาจสูงได้ถึง 800-1,000 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
การกินยาบางชนิดอาจทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้ เช่น ยาขับปัสสาวะไธอาไซด์ ฮอร์โมนเพศหญิง
ยาคุมกำเนิดบางชนิด ในกลุ่มนี้การหยุดกินยาดังกล่าวจะทำให้ไตรกลีเซอไรด์ลดลงเป็นปกติได้
การควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์
ดังที่กล่าวมาแล้วสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง คือการกินอาหารไม่ถูกสัดส่วน กินอาหารพวกแป้งและน้ำตาลมากเกินไป
จนเป็นพลังงานส่วนเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ทำให้เกิดภาวะอ้วน มีการสร้างและย่อยสลายไตรกลีเซอไรด์ผิดปกติ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้
ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง จึงควร งดหรือลดการกินของหวานหรืออาหารที่มีน้ำตาลมาก เช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล
ปริมาณมาก ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ขนมทองหยิบทองหยอด ฝอยทอง คุกกี้ ไอศกรีม เป็นต้น สำหรับอาหารพวกข้าว ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นอาหารหลัก
คนที่กินมากกว่า 4 ทัพพีต่อมื้อ ถ้าไม่ใช่คนที่ออกกำลังกายหนักมากควรลดปริมาณลง ให้เหลือไม่เกิน 2-3 ทัพพีต่อมื้อ
ร่างกายจะสร้างไตรกลีเซอไรด์มากขึ้นถ้าได้รับพลังงานจากอาหารมากเกินไป ดังนั้น การรู้จักกินและแบ่งมื้ออาหารเพื่อให้มีการกระจาย
พลังงานให้เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด กล่าวคือควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ
ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้า และควรกินอาหารมื้อเช้าให้อิ่ม เพราะพลังงานที่ได้จากอาหารจะถูกนำไปใช้ใน
การทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดวัน ในปัจจุบันคนทั่วไปมีความเร่งรีบ จึงมักงดเว้นหรือกินอาหารเช้าเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ควรคำนึง
ไว้เสมอว่า กินอาหารมื้อเช้าให้ได้พลังงานประมาณ 1 ใน 4 ของพลังงานที่ควรได้ใน 1 วัน ซึ่งเท่ากับปริมาณพลังงานที่ควรได้รับ
ในอาหารมื้อเย็น ที่เหลือประมาณครึ่งหนึ่งควรได้จากมื้อกลางวัน และอาหารว่างเล็กๆ ในตอนสายและบ่าย การแบ่งพลังงานทั้งวันเช่นนี้
สอดคล้องกับการที่ร่างกายต้องใช้พลังงานในการดำเนินชีวิต ทำให้ไม่มีพลังงานเหลือที่จะนำไปสร้างเป็นไตรกลีเซอไรด์
ซึ่งจะนำปัญหาสุขภาพมาสู่เรา
การลดอาหารไขมันลงก็ช่วยทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลงได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารทอดหรือผัดที่ใช้น้ำมันมาก
ในการประกอบอาหาร รวมทั้งไขมันสัตว์ต่างๆ ยกเว้นไขมันจากปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมกา 3 (omega-3) การศึกษาวิจัยพบว่า
กรดไขมันโอเมกา ช่วยลดการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ในตับได้ ดังนั้นใครที่มีปัญหาไตรกลีเซอไรด์สูง หากได้ กินปลาทะเลที่มีไขมัน
โอเมกา 3 สูง ปรุงด้วยวิธีการนึ่ง 2-3 มื้อต่อสัปดาห์ จะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ค่อนข้างดี แต่ทั้งนี้ต้องลดการกินไขมันโดยรวม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันที่ได้จากสัตว์บกลงด้วย มิฉะนั้นกินอาหารที่มีไขมันโอเมกา 3 ไปก็ไม่ทันกับไขมันที่รับเพิ่มขึ้นในร่างกาย
คนที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ถ้ามีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วนควรพยายามลดน้ำหนักตัวลงบ้าง การลดน้ำหนักไม่ได้หมายความว่า
จะต้องลดน้ำหนักจนกระทั่งผอมแห้งอย่างกับดารานางแบบ เพียงแต่พยายามลดน้ำหนักตัวลงให้ได้ร้อยละ 5-10 จากน้ำหนักเดิม เช่น
คุณน้ำหนัก 90 กิโลกรัม ก็ควรลดน้ำหนักสัก 4-9 กิโลกรัม ไม่ต้องหักโหมลดน้ำหนักให้เหลือเพียง 70 กิโลกรัมในทันที การลดน้ำหนัก
ที่ดีที่สุดคือ การควบคุมปริมาณอาหารที่กินอย่าให้มากเกินไป ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับคนที่ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจากโรคบางอย่าง ควรควบคุมหรือรักษาโรคนั้นๆ ควบคู่กันไป เช่น ไตรกลีเซอไรด์สูง
จากภาวะเบาหวานประเภทที่สอง การลดไตรกลีเซอไรด์ทำได้โดยการพยายามคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้เป็นปกติควบคู่กันไปนั่นเอง
หรือในกรณีที่ไตรกลีเซอไรด์สูงจากภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ การลดไตรกลีเซอไรด์ทำได้โดยการรักษาด้วยฮอร์โมนไทรอยด์ด้วย
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การงดสูบบุหรี่และลดการดื่มเบียร์ เหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ทำให้ตับสร้างไตรกลีเซอไรด์
น้อยลง และการขจัดไขมันในเลือดได้ดีขึ้น จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
สรุปได้ว่าสาเหตุที่ เกินเพราะ รับประทานอาหารจำพวกแป้ง (ข้าวเหนียว)และอาหารเนื้อสัตว์ประเภทมีไขมัน เช่นเนื้อหมูติดมัน
อาหารประเภททอดด้วยน้ำมันพืช มากเกินไป ทางแก้ไข คือ ลดอาหารประเภทแป้งมาก
และกินผักผลไม้ ออกกำลังกายกลางแจ้งทุกวัน