
มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อจูเฬกสาฎก อยู่ในเมืองสาวัตถี เขามีผ้าสำหรับนุ่งคนละผืนกับนางพราหมณี แต่มีผ้าห่มเพียงผืนเดียว ใช้ด้วยกันสองคน วันหนึ่งเขาประสงค์จะฟังธรรม พระศาสดา จึงให้นางพราหมณีไปตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนตนเองจึงไปเฝ้าพระศาสดา พอฟังธรรมไปได้หน่อยหนึ่ง ก็เกิดปีติซาบซ่านทั่วสรรพางค์กาย ปรารถนาจะถวายผ้าห่มแด่พระศาสดา แต่ว่าเกิดความตระหนี่คิดเสียดายขึ้นมา เพราะเมื่อถวายผ้าห่มไปเสียแล้ว ไม่ทราบว่าจะเอาที่ไหนห่ม จนกระทั่งล่วงไปถึงปัจฉิมยามเขาจึงสามารถถวายผ้านั้น โดยชนะมัจเฉรจิตได้ (จิตคิดตระหนี่) เขาถือผ้าสาฎกนั้นเข้าไปวางแทบพระบาทยุคลของพระศาสนา ได้เปล่งเสียงดังขึ้น 3 ครั้งว่า "ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว"
ขณะนั้นพระเจ้าเสนทิโกศลกำลังฟังธรรมอยู่ ได้สดับเสียงนั้นจึงให้พวกราชบุรุษไปถาม พอได้ทราบความนั้น รู้สึกเลื่อมใสจึงให้พระราชทานผ้าสาฎกคู่หนึ่ง แต่พราหมณ์ได้นำผ้าสาฎกนั้นถวายพระศาสดา พระราชาได้รับสั่งให้พระราชทานเขาอีก จนถึง 8 คู่ แต่เขาก็ได้ถวายแด่พระศาสดาทั้งหมด ต่อมาพระราชาได้รับสั่งพระราชทานแก่เขาอีก จนถึง 16 คู่ แต่เขาก็ได้ถวายแด่พระศาสดาทั้งหมด ต่อมาพระราชาได้รับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎก 32 คู่แก่เขา แต่พราหมณ์ถือเอาเพียงสองคู่เท่านั้น เพื่อตนและเพื่อภรรยา แล้วถวายผ้าสาฎกทั้งหมดแด่พระศาสดา พระราชาเห็นเช่นนั้นก็ให้ราชบุรุษไปนำเอาผ้ากัมพล 2 ผืนซึ่งอยู่ภายในวัง มาพระราชทานแก่เขา เขาได้ขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่งเป็นเพดานในที่บรรทมของพระศาสดาและไว้ที่หอฉันผืนหนึ่ง
ตกเย็น พระราชาเสด็จมาสำนักพระศาสดา ทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลนั้น ได้ทูลถามพระศาสดา ได้ทรงทราบว่าพราหมณ์เอกสาฎกเป็นผู้ถวาย จึงสั่งพระราชทานช้าง 4 ม้า 4 กหาปณะ 4000 กหาปณะ 4000 สตรี 4 คน ทาสี 4 คน บรุษ 4 คน บ้านส่วยอีก 4 ตำบลแก่เขา
พวกภิกษุได้สนทนากันในโรงธรรมว่า "แหม กรรมของหราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎกน่าอัศจรรย์ ชั่วครู่เดียวเท่านั้น เขาได้รับพระราชทานของถึง 4 อย่าง เขาทำกรรมงามไว้ในที่อันเป็นเนื้อนาบุญในบัดนี้นั่นแล ได้ให้ผลในวันนนี้ทีเดียว "
พระศาสดาเสด็จมาถึง ได้ตรัสถาม เมื่อทรงทราบเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจูเฬกสาฎกสามารถถวายแก่เราในปฐมยามได้ เขาจักได้สรรพวัตถุ อย่างละ 16 ถ้าสามารถถวายในมัชฌิมยามก็จักได้สรรพวัตถุอยย่างละ 8 แต่นี่เขาถวายในปัจฉิมยาม จึงได้อย่างละ 4 เท่านั้น ความจริงกรรมดีที่คนทำไม่ให้จิตที่เกิดขึ้นเลื่อมใสเสีย ควรทำในทันทีนั่นเอง ด้วยว่า กุศลที่บุคคลทำช้า เมื่อให้สมบัติก็ให้ช้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงควรทำกรรมดีในเวลาที่เกิดความคิดขึ้นนั่นแหละ" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
"บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตเสียจากความชั่ว เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในความชั่ว"
ปล.จากผู้รวบรวม . 1.ศรัทธาที่เกิดปิติอยากให้(ทาน) 2.ขณะให้(ทาน)ยังปิติ 3.ให้(ทาน)ผ่านไปแล้ว ยังปิติ (ไม่เสียดาย) .... ครบองค์ดังนี้ได้บุญแน่นอน