แร่ใยหิน ภัยร้ายใกล้ตัว
แร่ใยหิน (asbestos) คือแร่ที่เป็นสารประกอบซิลิเกต (ประกอบด้วยซิลิกอนและออกซิเจน) และอยู่ในลักษณะเส้นใยที่รวมกันเป็นมัด
แร่ใยหินสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ serpentine ที่มีลักษณะใยยาวและหยัก สามารถนำมาถักทอได้ ตัวอย่างแร่ใยหินในกลุ่มนี้ ได้แก่ chrysotile
อีกกลุ่มหนึ่งคือ amplibole ที่มีลักษณะใยตรง รูปร่างคล้ายเข็ม และเปราะกว่าแร่ใยหินในกลุ่มแรก ตัวอย่างแร่ใยหินในกลุ่มนี้
ได้แก่ actinolite, tremolite, anthophyllite, crocidolite และ amosite
เนื่องจากแร่ใยหินมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ทนแรงดึงและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่นำไฟฟ้าและความร้อน มีความสามารถในการดูดซึมสูง
ทนไฟและสารเคมี แร่ใยหินจึงถูกนำมาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ยุคโบราณ เช่น ใช้ทำไส้ตะเกียงในจีนยุคโบราณและโรมัน
ใช้ผสมในดินเหนียวเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเครื่องปั้นดินเผาในฟินแลนด์ยุคโบราณ ตลอดจนทำเป็นผ้าทนไฟ
สำหรับห่อพระศพของจักรพรรดิโรมันเวลาถวายพระเพลิง
การใช้ประโยชน์จากแร่ใยหินเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แร่ใยหินถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา
กระเบื้องปูพื้น ท่อซีเมนต์ เบรกรถและคลัตช์ ฉนวนกันความร้อน แผ่นกันเสียง พลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากการตระหนักถึงผลเสียของแร่ใยหิน
ปริมาณการผลิตแร่ใยหินทั่วโลกจึงลดลง (ทว่าปริมาณการใช้ประโยชน์จากแร่ใยหินยังคงมีมาก) บางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ชิลี ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี
เป็นต้น ห้ามการใช้แร่ใยหิน ส่วนในประเทศไทยนั้น อนุญาตให้ใช้เฉพาะแร่ chrysotile และ amosite ในอุตสาหกรรม รวมถึงมีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
(ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2552 ระบุให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ต้องมีการแสดงคำเตือน พร้อมทั้งข้อแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอแผนยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินในประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556
แต่ปัจจุบันแผนดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
แร่ใยหินทำอะไรกับร่างกายของเรา
เมื่อหินหรือผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเกิดการแตกร้าวหรือชำรุด ใยหินจะถูกปลดปล่อยออกมาในอากาศ แล้วเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
บุคคลที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แร่ใยหิน จะมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับแร่ใยหิน การสำรวจปริมาณใยหินในอากาศของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ
(หลังคา ท่อซีเมนต์ กระเบื้องปูพื้นไวนิล สีพื้นและสีอะครีลิก เบรกและคลัตช์) จำนวน 20 แห่งในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2530 – 2531
พบว่าโรงงานผลิตเบรกและคลัตช์มีปริมาณใยหินในอากาศสูงที่สุด นอกจากนี้สมาชิกในครอบครัวของผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับแร่ใยหินก็มีสิทธิได้รับแร่ใยหินที่ปนเปื้อนมากับเสื้อผ้า
รองเท้า ผิวหนัง และเส้นผมของผู้ที่ทำงานดังกล่าว
ใยหินที่ถูกสูดเข้าไป จะไปที่ตกค้างที่ปอด การได้รับใยหินติดต่อกันหลายครั้งจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระ และเกิดกระบวนการอักเสบ
ทำให้ปอดมีความผิดปกติ เช่น asbestosis ซึ่งหมายถึงการเกิดพังผืดในปอดจากการสูดดมแร่ใยหิน นอกจากนี้แร่ใยหินยังมีความเป็นพิษ
ต่อระบบพันธุกรรมของเซลล์ และผลการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ยืนยันว่าแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ การได้รับแร่ใยหินมีความสัมพันธ์กับ
ความเสี่ยงของมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อบุทรวงอกและช่องท้อง (mesothelioma) และมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
ปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคจากการสูดดมแร่ใยหิน ได้แก่
1. ปริมาณแร่ใยหินที่สูดดมเข้าไป การเกิดความผิดปกติในร่างกายจากแร่ใยหินล้วนมีความสัมพันธ์กับปริมาณแร่ใยหิน
2. ระยะเวลาที่ได้รับแร่ใยหิน ระยะเวลานับตั้งแต่สูดแร่ใยหินครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน (โดยไม่เกี่ยวข้องว่าในปัจจุบันจะยังได้รับแร่ใยหินอยู่หรือไม่)
โรคที่เกิดจากแร่ใยหินจะใช้เวลาค่อนข้างนาน (10 ถึง 40 ปี) กว่าจะเกิดโรค
3. ขนาด ความยาว รูปร่าง และองค์ประกอบทางเคมีของแร่ใยหิน ใยหินที่มีความยาวมากกว่า 20 ไมครอนจะเกี่ยวข้องกับการเกิด asbestosis
แร่ใยหิน crocidolite สามารถทำให้ผู้สูดดมมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่า chrysotile ถึงสิบเท่า ในกรณีที่ใยหินบาง
(กว้างน้อยกว่า 0.4 ไมครอน ยาวน้อยกว่า 0.2 ไมครอน) ในเรื่องขององค์ประกอบทางเคมีนั้น crociolite มีปริมาณธาตุเหล็กมากกว่า
chrysotile จึงอาจจะทำให้เกิดการทำลายปอดได้มากกว่า
4. แหล่งที่ได้รับแร่ใยหิน
5. ปัจจัยในแต่ละบุคคล เช่น การสูบบุหรี่ ซึ่งพบว่า การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายจากแร่ใยหิน
จะป้องกันอันตรายจากแร่ใยหินได้อย่างไร
ประเทศไทยมีการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ดังนั้น เวลาผู้บริโภคจะใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่อาจมีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ
เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น ควรอ่านฉลากว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแร่ใยหินหรือไม่ ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแร่ใยหิน
ให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด เช่น หลีกเลี่ยงการเจาะทำลายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้เกิดการปลดปล่อยใยหินสู่อากาศ
นอกจากนี้ แร่ใยหินยังใช้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ประชาชนจึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีการทุบทำลายสิ่งก่อสร้าง
ส่วนผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ควรอาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนกลับบ้าน
เพื่อป้องกันการเอาแร่ใยหินกลับไปเป็นของฝากคนในบ้าน