ตั้งแต่ 3 กุมภาพันธ์ 2541
ตรวจสอบแทรคไปรษณีย์ไทย
domain register Admin Only
ทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ตรวจสอบไอพี(IP check for locate)
อาหารใส่บาตร ตัวการพ่วงบาป เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับอาหารใส่บาตร ซึ่งเป็นตัวการหนึ่งในการทำลายสุขภาพพระสงฆ์ไทย โดยมีผลการศึกษาวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า พระสงฆ์ไทยยังคงมีปัญหาสุขภาพจากอาหารใส่บาตรอยู่ไม่น้อย พญ.วราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพพระสงฆ์ไทยผ่านทีมข่าว Live ว่า พระสงฆ์ไทยร้อยละ 54 ยังพบปัญหาสุขภาพอยู่มาก โรคที่พบอันดับหนึ่งคือ โรคความดันโลหิตสูง ตามมาด้วยเบาหวาน แลไขมันในเลือดสูง ซึ่งสาเหตุหนึ่งยังคงเป็นอาหารจากบรรดาญาติโยมที่นำมาใส่บาตรในทุก ๆ เช้า ไม่ว่าจะเป็นแกงกะทิ ของทอดอมน้ำมัน น้ำอัดลม ส่งผลให้พระสงฆ์มีปัญหาเรื่องสุขภาพได้ง่าย "มีการสำรวจพบว่า โรคเรื้อรังส่วนใหญ่มาจากอาหารใส่บาตรถึงร้อยละ 85 นั่นเพราะความเร่งรีบ และไม่มีเวลาเตรียมอาหารของคนยุคใหม่จึงเลือกซื้อตามความสะดวก หรือบางคนรู้ว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วชอบขาหมูก็จะซื้อขาหมูมาใส่บาตรอยู่บ่อย ๆ ส่วนผัก และผลไม้แทบจะไม่มีเลย เมื่อพระต้องฉันอาหารเหล่านี้มากขึ้น ก็จะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์เผย
พระกรุงเทพฯ ฉันดี อยู่ดี เสี่ยงโรครุม! นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากโครงการสงฆ์ต้นแบบโภชนาดี ชีวียั่งยืน ที่มีการสำรวจการใช้ชีวิตประจำวันของพระสงฆ์ในวัดที่มีชื่อเสียงในเขตกรุงเทพฯ แบ่งเป็น วัดนิกายธรรมยุตและมหานิกาย รวม 4 วัด พบว่า รูปแบบการฉันอาหารของพระสงฆ์ โดยส่วนใหญ่จะเลือกฉันตามความชอบ ในกรณีที่สามารถเลือกได้ ซึ่งในความเป็นจริงอาหารที่ได้รับบิณฑบาตมาจะซ้ำๆ กัน เป็นอาหารจำพวกแกงกะทิ ผัดผัก ของทอด ในส่วนของหวานก็เป็นขนมไทย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เป็นต้น แต่ที่น่ากังวลที่สุด คือ การสำรวจพบความถี่ในการฉันเครื่องดื่มประเภทต่างๆ เช่น น้ำชาเขียว น้ำผลไม้บรรจุกล่อง น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และกาแฟสำเร็จรูป ทั้งหมดนี้พระสงฆ์นิยมฉันในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายต้องการในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยแล้วพระสงฆ์ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อย่างน้อยวันละ 2 กล่อง/ขวด สื่อต่างชาติห่วงสุขภาพพระไทย ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ไทย ไม่เพียงแต่จะมีการพูดคุยกันภายในประเทศเท่านั้น ยังมีสื่อต่างประเทศหยิบยกไปรายงานโดยอ้างผลการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพของพระสงฆ์ในประเทศไทยซึ่งระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่ง "อ้วนเกินพิกัด" โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสงฆ์ไทยมีน้ำหนักตัวมากเกิดจากบรรดาของหวานและกับข้าวที่เต็มไปด้วยน้ำมัน-ไขมัน ที่ญาติโยมและพุทธศาสนิกชนชาวไทยนำมาถวายหรือใส่บาตรนั่นเอง รายงานข่าวของสื่อต่างประเทศหลายสำนักระบุว่า ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระสงฆ์ไทยจำนวน 246 รูปทั้งจากธรรมยุติกนิกายและมหานิกายใน 11 จังหวัดของไทยพบว่า ราวร้อยละ 45 หรือเกือบครึ่งหนึ่งมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน และอีกร้อยละ 40 มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า เช่น ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี และผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะ "แอบอ้วน" ทีละน้อยโดยไม่ทันได้รู้ตัว นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสงฆ์ไทยมีน้ำหนักตัวมากเกิดจากบรรดาของหวาน แกง หรือกับข้าวที่มันเยิ้มที่ญาติโยมและพุทธศาสนิกชนนำมาถวายที่วัดหรือใส่บาตรในตอนเช้านั่นเอง รวมถึงบรรดาเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาลที่เรียกว่า "น้ำปานะ" ซึ่งภิกษุสามเณรดื่มในยามวิกาล ตักบาตรให้ได้บุญ เราทำได้ จากข้อมูล และการศึกษาวิจัย เราจะเห็นตรงกันว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พระสงฆ์มีปัญหาด้านสุขภาพก็คือ อาหารใส่บาตรของบรรดาญาติโยมทั้งหลาย ดังนั้น แพทย์หญิงวราภรณ์ แนะนำไปยังบรรดาญาติโยมว่า เวลาใส่บาตรพระสงฆ์ หรือนำอาหารไปถวายพระ ควรเน้นอาหารประเภทผักในปริมาณครึ่งหนึ่งของอาหารที่ถวายทั้งหมด เพราะจะช่วยให้พระสงฆ์ได้ฉันอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ควรเลือกอาหารประเภทต้ม นึ่ง แทนการทอด ส่วนเครื่องยาสูบ หรือเครื่องดื่มชนิดหวานต่าง ๆ ควรลดให้น้อยลง เช่นเดียวกับ นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้ให้ความรู้ในการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ไทย โดยเน้นไปที่ 3 อาหารหลัก ๆ คือ อาหารจำพวกธัญพืช อาหารที่ให้แร่ธาตุ และผักผลไม้ - อาหารจากธัญพืช ได้แก่ ข้าวประเภทต่างๆ อย่างข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ โฮลวีท รำข้าว งาดำ ลูกเดือย เห็ด และพืชตระกูลถั่ว ธัญพืชที่ไม่ขัดสีจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งอาหารจำพวกธัญพืชนั้นจะมีเส้นใยสูง สารอาหารครบ 5 หมู่ มีวิตามินบี อี ช่วยให้หลอดเลือดมีสุขภาพดีป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ นอกจากนั้น ช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ - อาหารที่มีแร่ธาตุ เป็นอาหารที่มีประโยชน์ในการป้องกันโรคโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือเกาะผนังหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอล เช่น ตำลึง คะน้า ใบขึ้นฉ่าย นมสด ไข่ เนย กุ้งแห้ง กุ้งผอย ปลาไส้ตัน จะให้แคลเซียมสูง กล้วย และผักใบเขียวต่างๆ จะให้โพแทสเซียม ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการหดตัวของกล้ามเนื้อและนำกระแสประสาท จังหวะการเต้นของหัวใจและรักษาระดับของเหลวในเซลล์ ส่วนตับ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ไข่แดง กุยช่าย เป็นต้น จะให้ธาตุเหล็ก ถ้าขาดธาตุนี้จะเกิดโรคโลหิตจาง อ่อนเพลียและมีผลต่อสมอง นอกจากนี้ ควรเน้นอาหารที่มีวิตามินด้วย เพราะวิตามินเป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน แต่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ แบ่งออกเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค กับวิตามินที่ละลายน้ำได้แก่ วิตามินบีต่างๆ และวิตามินซี พบมากในผักและผลไม้ตระกูลส้ม - ผักเพื่อสุขภาพ ควรเลือกซื้อตามฤดูกาล เพราะจะได้ผักที่สด และราคาถูก โดยเฉพาะผักที่มีเครื่องหมาย "ผักอนามัย" ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วใช้มือถูบนใบผักเบาๆ จะช่วยให้สารพิษตกค้างหลุดออกได้ง่าย เมื่อมั่นใจแล้วก็ต้องดูว่าผักแต่ละชนิดมีสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร เช่น กระเทียม มีฤทธิ์รักษาโรคหัวใจ ช่วยลดคอเลสเตอรอล และความดัน ขิงข่ามีสรรพคุณทางยาคล้ายกัน ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด เฟ้อ แน่นจุกเสียด เป็นต้น จริงอยู่..ว่าการตักบาตรอย่าถามพระ แต่เราสามารถ "ถามใจตัวเอง" ได้ไม่ใช่หรือว่า อาหารที่เตรียมใส่บาตรนั้นมีประโยชน์ หรือบั่นทอนสุขภาพพระสงฆ์ ซึ่งคงต้องเลือกกันเอาเองว่าจะตักบาตรให้ได้บุญ หรือจะพ่วงบาปกลับมาหาตัว! ขอบคุณข้อมูลจาก ASTV ผู้จัดการ LIVE
--------------------------------------
เรื่องจริงที่พบมา บางครั้งคนแก่ในชนบท ถือว่า เมื่อญาติเสียชีวิตไปแล้ว หากต้องการให้ญาติได้กินอะไร ต้องเอาสิ่งนั้นใส่บาตรพระ เรื่องนี้ มียายคนหนึ่ง คิดถึงสามี ที่เคยกินเหล้าขาว ทุกวัน จนตาย อยู่มาวันหนึ่งจึงไปซื้อเหล้าขาว ใส่ถุงพลาสติค มาใส่บาตรพระโดยใส่รวมกับถุงอาหารไปด้วย มีคนที่ใส่บาตรด้วยกันสังเกตุเห็น จึงถามยายคนนั้นว่าใส่ทำไม ยายก็บอกว่า อยากให้สามีได้กิน คิดถึงเขา คนเขาถามต่อว่า แล้วพระที่รับไปจะฉันให้ไหม ยายตอบว่า แล้วแต่ท่าน เพราะใส่ไปแล้วท่านจะนำไปฉันหรือทิ้งเป็นเรื่องของท่าน ดูซิ อย่างนี้ก็มี จะได้บุญหรือได้บาป กันแน่ และคิดได้อย่างไร